บทความที่ได้รับความนิยม

วันอาทิตย์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2566

ep.10 อุบายลับลวงพราง ในพระพุทธศาสนา #ตีวัวกระทบคราด

 

ตีวัวกระทบคราด

 

การผูกใจเจ็บต้องการเอาชนะ นอกจากภายในใจจะสุมไฟแห่งความโกรธเกลียดแล้ว ความอาฆาตแค้นมักทำร้ายเจ้าของเสียเอง ดุจไฟที่กำลังไหม้เทียนไข ยิ่งไฟไหม้มากเท่าไหร่ ย่อมทำให้เทียนไขใกล้หมดเร็วเท่านั้น คนเรายิ่งอาฆาตมากเท่าไร ยิ่งเดินเข้าสู่ปากความตายเท่านั้น  จากนั้นจึงต้องหาวิธีคิดค้นที่จะหาอุบายเอาชนะคนอื่นให้ได้ ถึงแม้จะรู้ว่าหนทางข้างหน้ามีแต่ขวากหนามรออยู่ บางคนก็ไม่ได้สนใจวิธีการได้ซึ่งความสำเร็จมา เพราะความเกลียดชังบังตา จึงทำให้คนอื่นเดือดร้อนเพราะผลแห่งการคิดชั่วของตน สุดท้ายแม้แต่ตนเองก็ได้รับผลแห่งความอาฆาตแค้นนั้นด้วย

          ความแค้น ไม่ได้มีรูปร่าง ตัวตน  ไม่มีสี  ไม่มีกลิ่น  น่าแปลกว่า  อานุภาพมันช่างรุนแรงเหลือเกิน ที่สำคัญ  ความแค้นนี้เป็นมิตรกับทุกคน  เข้าได้กับทุกเพศทุกวัย  เด็กก็แค้นได้  ผู้ใหญ่ก็แค้นหนัก  คนรักก็แค้นนาน  ข้าราชการก็แค้นใหญ่ ผู้ชายก็แค้นจริง  ผู้หญิงก็แค้นจัด  คนอยู่วัดก็แค้นเป็น  ดูแล้วช่างเหลือร้ายจริง ๆ ความชิงชังคือยาพิษที่ทำให้สตรีจากผู้งดงาม กลายเป็นนางมารร้าย ความงดงามของหญิงจะดูด้อยค่าลงหากเมื่อนางโกรธ เกลียด พยาบาท อิจฉาริษยา

นางมาคันทิยา เป็นหนึ่งในพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน เป็นหญิงที่มีรูปร่างหน้าตาสวยงามมาก  พ่อแม่จึงค่อนข้างหนักใจสำหรับคนที่จะมาเป็นคู่ครองของนาง ถึงจะมีตระกูลใหญ่มาอ้อนวอนสู่ขอนาง ก็มักจะถูกบิดาของนางปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า “พวกท่านไม่คู่ควรกับลูกสาวของเรา” แล้วไล่ตะเพิดกลับไป นางมารร้ายในอดีตพุทธกาล  คงไม่มีใครเทียบเท่าฝีมือของ  นางมาคันทิยา ที่นางมีความแค้นปักอกอยู่ทั้งวันทั้งคืน  รอวันที่จะแก้แค้น การใช้อุบายต่างๆนานา ก็เริ่มต้นขึ้น เพียงเพื่อสนองความแค้น

 

วันหนึ่ง พระศาสดาทรงมองเห็นอุปนิสัยแห่งการได้อนาคามิผลของบิดามารดาของนาง คือมาคันทิยพราหมณ์และนางมาคันทิยาพราหมณี ทั้งสองสามีภรรยา ผู้เป็นบิดามารดาของนางมาคันทิยา[๖๓]พระองค์ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปยังที่ทำพิธีบูชาไฟของพราหมณ์มาคันทิย เมื่อพราหมณ์ได้เห็นความงามแห่งพระรูปของพระศาสดาเท่านั้น มีความคิดว่า “เราเที่ยวหาคนที่เหมาะสมกับลูกสาวของเราเสียนาน บัดนี้เจอแล้ว ผู้ที่มีรูปงามเหมือนบุรุษผู้นี้ หาได้ยากยิ่ง บุรุษผู้นี้เหมาะสมกับลูกสาวของเรา เราจะยกลูกสาวของเราให้บุรุษผู้นี้เพื่อให้เป็นภรรยา”

จึงเข้าไปหาพระพุทธองค์แล้วกราบทูลว่า “ท่านสมณะ เรามีธิดาอยู่คนหนึ่ง ที่ผ่านมา เรายังไม่เคยเห็นชายใดที่สมควรคู่ควรแก่ธิดาของเราเลย ท่านเป็นผู้ที่เหมาะสมกับธิดาของเราเหลือเกิน และนางก็เหมาะสมแก่ท่านด้วย ท่านควรได้ครอบครองนางไว้เป็นภรรยาเถิด ส่วนนางก็ควรได้ท่านเป็นสามี เราจะได้ยกธิดาให้แก่ท่านเพื่อเลี้ยงดู ท่านจงโปรดยืนรอข้าพเจ้าอยู่ที่นี้เถิด จนกว่าข้าพเจ้าจะกลับมา”

ส่วนพระศาสดาไม่ได้ตรัสอะไร ทรงยืนนิ่งเฉย พราหมณ์มาคันทิยไปสู่เรือนของตนกล่าวกับภรรยาของตนว่า “เธอ ๆ เราได้เจอบุรุษผู้ที่สมควรแก่ลูกสาวของเราแล้ว หล่อนจงให้ลูกสาวของเราแต่งตัวโดยเร็ว” เมื่อคนได้ทราบข่าวว่าพราหมณ์ได้พบผู้ที่เหมาะสมกับลูกสาวของตน ข่าวได้แพร่สะพัดออกไป มาคันทิยพราหมณ์ได้พาทั้งสองไปพบพระศาสดา  เมื่อไปถึงสถานที่ที่ตนได้นัดหมายเอาไว้ แต่ไม่ได้พบ ส่วนพระศาสดาไม่ได้ทรงประทับยืนในที่พราหมณ์นัดเอาไว้ แต่ทรงแสดงรอยพระบาทเอาไว้แทน

ส่วนนางมาคันทิยาพราหมณีผู้ภรรยา ได้ถามพราหมณ์ผู้เป็นสามีว่า “บุรุษผู้นั้นอยู่ที่ไหน? พรามหณ์บอกว่า “เราได้พูดกับเขาว่า ให้ท่านรอเราอยู่ตรงนี้ ตอนนี้เขาไปไหนเสียเล่า?”                                         ฝ่ายพราหมณ์ก็เสาะแสวงหาพระศาสดา ก็พบกับรอยพระบาท แล้วกล่าวว่า “นี่เป็นรอยเท้าของเขา” ส่วนนางพราหมณ์ผู้เป็นภรรยา รู้ลักษณะมนต์ ตรวจดูลักษณะแห่งรอยพระบาทของพระศาสดา กล่าวว่า “พ่อพราหมณ์ รอยเท้านี้ ไม่ใช่รอยเท้าของบุคคลผู้มักมากในกามคุณ ๕” ตามตำราแห่งพระเวทของนางพราหมณีกล่าวเอาไว้ว่า “ปกติคนเจ้าราคะ จะมีรอยเท้าเว้าตรงกลาง ส่วนคนมีโทสะ มักมีรอยเท้าหนักส้น คนเจ้าโมหะ มีปลายเท้าจิกลง ส่วนคนที่ไม่มีกิเลส มีรอยเท้าลักษณะเช่นนี้”

ทีนั้นพราหมณ์พูดเยาะเย้ยภรรยาว่า “ใช่สิ เธอเก่งในเรื่องมนต์เหมือนเห็นจระเข้อยู่ในโอ่งน้ำ เหมือนเห็นโจรอยู่บนเรือน” ทำนองว่ารู้ชัด รู้จริง แต่ก็จงนิ่งเสีย อย่าได้พูดมาก ส่วนภรรยาได้กล่าวกับพราหมณ์ผู้เป็นสามีว่า “ท่านอยากจะพูดประชดอะไรก็พูดไปเถอะ แต่ฉันขอยืนยันว่ารอยเท้านี้ ไม่ใช่รอยเท้าของคนผู้มักมากในกาม” ส่วนพราหมณ์ก็ยังไม่ลดละ เที่ยวมองหาพระศาสดา เมื่อเห็นพระองค์ กล่าวว่า “นั่นไง เขาคือชายผู้นั้น” จึงได้เข้าไปหา กล่าวว่า “ท่านสมณะ ข้าพเจ้าจะยกลูกสาวของเราให้แก่ท่าน” พระศาสดาไม่ทรงตรัสตอบว่าพระองค์ทรงต้องการลูกสาวของพราหมณ์หรือไม่ แต่ทรงเล่าตั้งแต่วันที่พระองค์ทรงออกบวช จนถูกมารติดตาม จนพญามารอ่อนใจไม่สามารถทำอะไรพระองค์ได้ ตรัสกับพราหมณ์ว่า

“เราเห็นนางตัณหา นางอรดีและนางราคา เรายังไม่มีความยินดีเลย เหตุไฉนเล่า ท่านพราหมณ์ เราจักมีความยินดีในธิดาของท่าน ซึ่งเต็มไปด้วยปัสสาวะอุจจาระ เราไม่ปรารถนาจะแตะต้องธิดาของท่านแม้ด้วยเท้า”

หลังจากที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอน พราหมณ์ผู้เป็นบิดามารดาของนางมาคันทิยาได้บรรลุอนาคามิผล ส่วนนางมาคันทิยาผู้เป็นธิดา ได้ผูกอาฆาตในพระพุทธเจ้าว่า

“ถ้าสมณะนี้ ไม่มีความต้องการเรา ก็ควรจะบอกถึงความไม่ต้องการตรง ๆ แต่กลับทำให้เราเต็มไปด้วยสิ่งสกปรกมีปัสสาวะอุจจาระ เอาเถอะ เมื่อใดที่เราได้สามีที่ถึงพร้อมด้วยชาติ ตระกูล โภคะ และยศ เราค่อยเอาคืนแก่สมณะนี้”

การผูกใจอาฆาตในพระศาสดาก็เริ่มขึ้น ส่วนพระศาสดาทรงทราบว่านางมาคันทิยาทรงผูกอาฆาตในพระองค์ แต่ด้วยความทรงอนุเคราะห์แก่มารดาบิดาของนาง จึงต้องสอนอย่างนี้ ต่อมาผู้เป็นพ่อได้พานางมาคันทิยาไปฝากเอาไว้กับน้องชายของตน ชื่อจูฬมาคันทิยะ ผู้เป็นอาของนางมาคันทิยา ส่วนตนเองและภรรยาก็ไปบวชในพระพุทธศาสนา สุดท้ายก็ได้บรรลุพระอรหันต์

ส่วนจูฬมาคันทิยะ คิดว่า “หลานของเราไม่สมควรแก่คนทั่วไป นอกจากพระราชาผู้เดียว”                         จึงได้พานางมาคันทิยาไปเมืองโกสัมพี ตบแต่งด้วยเสื้ออาภรณ์อันงดงาม ได้นำนางถวายแก่พระเจ้าอุเทน กราบทูลว่า “นางแก้วนี้สมควรแก่ฝ่าพระบาทแต่ผู้เดียว พระเจ้าข้า” ส่วนพระเจ้าอุเทนเมื่อได้เห็นนางมาคันทิยาก็ทรงเกิดความสิเนหาอย่างแรงกล้า จึงได้ประทานนางสนม ๕๐๐ คนให้เป็นหญิงบริวาร และทรงแต่งตั้งนางมาคันทิยาในตำแหน่งพระมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง นอกจากนี้พระเจ้าอุเทนก็ยังมีพระมเหสีอีกสองพระองค์คือพระนางสามาวดีและพระนางวาสุลทัตตา พระนางสามาวดีเลื่อมใสในพระศาสดาและชอบปฏิบัติธรรม ส่วนพระนางมาคันทิยาผูกอาฆาตในพระองค์

วันหนึ่งขณะที่พระนางมาคันทิยา เสด็จผ่านที่พักของหญิงที่รับใช้พระนางสามาวดี ได้เห็นช่องต่าง ๆ ที่ฝาห้องที่เหล่าหญิงคนใช้ของพระนางสามาวดีทำเอาไว้ ณ ที่อยู่ของตน จะได้นำเอาดอกไม้และของหอมต่าง ๆ เหยียดมือออกไปบูชาพระศาสดา จึงถามหญิงรับใช้ว่า “นี่มันอะไรกัน?” หญิงเหล่านี้ ไม่รู้ว่า พระนางมาคันทิยาผูกอาฆาตในพระศาสดา จึงตอบด้วยความสัตย์ซื่อว่า “พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่นครนี้ พวกหม่อมฉันอาศัยช่องเหล่านี้ ย่อมบูชาพระองค์ด้วยของหอมและดอกไม้จากช่องเหล่านี้”

พระนางมาคันทิยาคิดว่า “ดีละ พระสมณโคดมมายังนครนี้ เราต้องหาจังหวะแก้แค้นให้ได้ แม้แต่หญิงเหล่านี้ที่เป็นอุปัฎฐายิกา เราก็จะหาวิธีแก้แค้นหญิงเหล่านี้ให้นางฉิบหายให้จงได้” จึงไปเข้าเฝ้าพระเจ้าอุเทนและเพ็ดทูลว่า “ข้าแต่มหาราช พระนางสามาวดีพร้อมหญิงคนใช้ นอกใจพระองค์ เห็นทีพระองค์จะต้องมีพระชนม์มายุสั้นเป็นแน่แท้ เพคะ” แต่พระเจ้าอุเทนกลับไม่ทรงเชื่อสิ่งที่พระนางมาคันทิยาเพ็ดทูล ด้วยทรงดำริว่า “หญิงเหล่านั้นคงไม่ทำอย่างนั้น” เมื่อพระนางมาคันทิยากราบเพ็ดทูลอีก ก็ไม่ทรงเชื่ออีก จึงกราบเพ็ดทูลเป็นครั้งที่ ๓ แต่พระเจ้าอุเทนก็ไม่ทรงเชื่อ แต่พระนางมาคันทิยาก็คงคะยั้นคะยอให้พระเจ้าอุเทนไปทอดพระเนตรเห็นด้วยพระองค์เอง เมื่อพระเจ้าอุเทนไป ตรัสถามว่า “นี่มันอะไรกัน” เมื่อได้ทราบความจริงจากหญิงรับใช้ พระองค์ก็ไม่ทรงตำหนิว่าอะไร รับสั่งให้ปิดช่องเหล่านั้น แต่รับสั่งให้ทำเป็นประตูหน้าต่างขึ้นมาแทน

เมื่อพระนางมาคันทิยาไม่สามารถทำอะไรเหล่านางผู้เป็นอุปัฎฐายิกาของพระศาสดาได้                         จึงได้เปลี่ยนเป้าหมาย จ้างคนให้ไปด่าพระศาสดาแทน ด้วยคิดว่า หากพระศาสดาโดนคนด่ามาก ๆ ก็คงหนีไปจากเมืองนี้เอง

พระอานนท์ เมื่อได้ฟังคำด่าจากคนที่ด่า กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ชาวเมืองนี้ด่าพวกเรา เราไปเมืองอื่นกันเถิด”

พระศาสดา ตรัสถามว่า “เราจะไปที่ไหน อานนท์”

พระอานนท์ กราบทูลว่า “เราจะไปเมืองอื่น พระเจ้าข้า.”

พระศาสดา ตรัสถามอีกว่า “หากเราไปยังเมืองอื่น ผู้คนก็ยังคงด่าอีก เราจะไปเมืองไหนอีกเล่า อานนท์”

พระอานนท์ กราบทูลว่า “ไปเมืองอื่นอีก พระเจ้าข้า.”

พระศาสดาตรัสว่า “อานนท์ การทำอย่างนี้ไม่ควรเลย เหตุเกิดในที่ใด เมื่อเหตุสงบระงับแล้ว จึงควรไป อานนท์ ก็คนที่ด่านั้น เป็นใครเล่า?”

พระอานนท์ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ คนที่ด่าเป็นคนยากจน เป็นพวกทาสและกรรมกร

พระศาสดา ตรัสว่า “อานนท์ เราเป็นเช่นเดียวกับช้างเชือกที่กำลังก้าวสู่สงคราม การอดทนจากลูกศรที่ยิงมาถูกต้องจากทิศทั้ง ๔ ย่อมเป็นภาระหนักของช้างที่ก้าวสู่สงครามอย่างไร การอดทนต่อถ้อยคำอันคนทุศีลด่า ก็เป็นภาระของเรา อย่างนั้นเหมือนกัน”

และตรัสว่า “อานนท์ เธออย่าได้คิดมากเลย คนเหล่านั้นจักด่าได้แค่ ๗ วันเท่านั้น พอวันที่ ๘ ก็จะเงียบไปเอง ปกติเรื่องที่เกิดกับพระพุทธเจ้า ย่อมไม่เกิน ๗ วัน”

เมื่อทำให้พระศาสดาหนีไปไม่ได้ พระนางมาคันทิยาจึงคิดหาอุบายอย่างอื่นที่จะหาวิธีทางในการแก้แค้นพระศาสดาให้สำเร็จ จึงได้คิดหาอุบาย ต่าง ๆ คิดว่า เราจะแก้แค้นพระสมณโคดมด้วยหญิงเหล่านี้แทน ในฐานะเป็นผู้อุปถัมภ์ เราจะทำให้หญิงเหล่านี้ฉิบหายวอดวายแทนพระสมณโคดม”

อยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่พระนางมาคันทิยากำลังอยู่ที่ทรงเสวยน้ำจัณฑ์กับพระเจ้าอุเทน ให้คนใช้ไปส่งข่าวบอกจูฬมาคันทิยะผู้เป็นอา ให้ส่งไก่ตายมาให้ ๘ ตัว และส่งไก่เป็นมาให้อีก ๘ ตัว บอกคนใช้ให้นำเอาไก่เป็นมาก่อน ส่วนไก่ตายให้เอามาในภายหลัง

ส่วนคนใช้ไปหานายจูฬมาคันทิยะตามคำสั่งของพระนางมาคันทิยา นำไก่เป็นมาก่อน ๘ ตัว กราบทูลแก่พระเจ้าอุเทนว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ท่านปุโรหิต ส่งเครื่องบรรณาการมาถวาย” พระราชาตรัสว่า “ดีจริง เราจะได้เสวยแกงอ่อมเสียที แล้วใครละ จะเป็นผู้แกง? พระนางมาคันทิยา กราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ให้พระนางสามาวดีพร้อมบริวารเป็นผู้ทำถวายสิ เพคะ  งานการไม่ยอมทำ ชอบเที่ยวเตร่ไปมา ขอพระองค์จงส่งไก่เป็นเหล่านี้ไปให้หญิงเหล่านี้เถอะ เพคะ ให้หญิงเหล่านี้ทำถวาย”

พระเจ้าอุเทนรับสั่งให้คนใช้ส่งไก่เป็นไปให้พระนางสามาวดีพร้อมหญิงบริวารด้วยทรงรับสั่งว่า “เจ้าจงเอาไก่เหล่านี้ไปให้หญิงเหล่านั้นเถิด”

คนใช้รับว่า “พระเจ้าข้า”

คนใช้ได้นำเอาไก่เป็นไปให้พระนางสามาวดีพร้อมหญิงบริวารแกง แต่ถูกพระนางสามาวดีพร้อมหญิงบริวารปฏิเสธ เพราะพระนางไม่ยอมทำปาณาติบาตไก่เหล่านี้ คนใช้จึงนำความมากราบทูลแก่พระราชา ส่วนพระนางมาคันทิยาได้โอกาส จึงกราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงเห็นไหม? หญิงเหล่านี้อ้างว่าตนไม่ทำปาณาติบาต ขอให้พระองค์ทรงรับสั่งให้หญิงเหล่านี้ทำไปถวายแก่พระสมณโคดมดูบ้าง ดูว่าหญิงเหล่านี้จะยอมทำปาณาติบาตหรือไม่?”

พระราชาก็ทรงรับสั่งตามที่พระนางมาคันทิยาได้เพ็ดทูล ส่วนคนใช้ทำทีเป็นถือไก่เป็นไป แล้วสลับเปลี่ยนเอาไก่ตายจากจูฬมาคันทิยะแทน เอาไก่ตายไปให้พระนางสามาวดีพร้อมหญิงบริวารแทน กล่าวว่า “ขอท่านจงแกงไก่เหล่านี้แล้ว จงนำไปถวายในสำนักของพระพุทธเจ้า หญิงเหล่านั้นบอกว่า ได้เลยท่าน เราสามารถแกงไก่ตายนี้ได้อยู่”

คนใช้ก็กลับมาหาพระราชา เมื่อพระราชาทูลถามว่า “เป็นไงบ้าง?” คนใช้กราบทูลว่า “ข้าพระองค์เพียงกราบทูลว่า ขอท่านจงแกงไก่นี้ไปถวายพระสมณโคดมเถิด เท่านั้นแหละ หญิงเหล่านั้นก็ตอบตกลงทันที พระเจ้าข้า”

พระนางมาคันทิยา ใส่ไคล้ กราบทูลว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า พระองค์ทรงดูเอาเถิด เมื่อหม่อมฉันทูลว่า หญิงเหล่านี้มีใจออกห่างไปภายนอก พระองค์ก็ไม่ทรงเชื่อหม่อมฉัน ตอนนี้พระองค์ทรงทราบแล้วหรือยัง เพคะ” พระราชาได้ทรงสดับคำของพระนางมาคันทิยา ก็ไม่ทรงตรัสอะไร ได้แต่ทรงนิ่งเฉยเอาไว้ ส่วนพระนางมาคันทิยาคิดว่า “เราจะทำอย่างไรดีอีก”

ปกติพระราชาจะทรงสลับหมุนเวียนไปยังปราสาทของพระมเหสีทั้ง ๓ พระองค์ คราวละ ๗ วัน ทีนั้นพระนางมาคันทิยารู้ว่า พรุ่งนี้หรือมะรืน จะถึงวาระที่พระราชาจะต้องเสด็จไปยังปราสาทของพระนางสามาวดี” จึงได้ส่งข่าวไปหาอาอีก ให้นำงูมาให้ พร้อมกับกำชับว่า “ขอท่านจงถอนเขี้ยวงูออกแล้วส่งงูมาให้ตัวหนึ่ง” นายจูฬมาคันทิยะก็ได้ทำตามที่พระนางมาคันทิยาสั่ง

ส่วนพระราชาได้ทรงถือพิณหัสดีกันต์ เสด็จไปยังที่พำนักของพระองค์ ในพิณนั้นมีช่องอยู่ช่องหนึ่ง พระนางมาคันทิยานำเอางูใส่ไว้ในช่องนั้นแล้วปิดด้วยดอกไม้  ส่วนงูก็อยู่ในพิณ ในวันที่พระราชาจะต้องเสด็จไปหาพระมเหสีองค์อื่น พระนางมาคันทิยาได้เข้าไปทูลถามว่า “วันนี้พระองค์จะเสด็จไปยังปราสาทของพระมเหสีองค์ไหน เพคะ” เมื่อพระราชาตรัสตอบว่า “เราจะไปหาพระนางสามาวดี” พระนางมาคันทิยากราบทูลว่า “ช่วงนี้หม่อมฉันฝันเกี่ยวกับพระองค์ไม่สู้ดีนัก ขอพระองค์อย่าได้ไปที่นั้นเลย เพคะ” พระราชาตรัสว่า “ไม่เป็นไรหรอก เราจะไป” แม้พระนางมาคันทิยาทูลอ้อนวอนถึง ๓ ครั้ง พระราชาก็ทรงยืนยันคำเดิม ส่วนพระนางมาคันทิยาก็กราบทูลว่า “ถ้าเป็นเช่นนั้น หม่อมฉันก็ขอเสด็จไปกับพระองค์ด้วย” แม้พระราชาตรัสบอกให้กลับ พระนางมาคันทิยาก็ไม่กลับ ทรงคะยั้นคะยอจะไปพร้อมพระราชาให้จงได้ โดยอ้างว่า ไม่รู้ว่าจะมีเหตุอะไรเกิดขึ้นกับองค์เหนือหัว

ส่วนพระเจ้าอุเทนเมื่อไปถึง พระนางสามาวดีได้ทำการต้อนรับด้วยดอกไม้ ของหอมและเครื่องอาภรณ์ ถวายพระกระยาหารอย่างดี ทรงวางพิณไว้เบื้องบนพระเศียร แล้วบรรทม ส่วนพระนางมาคันทิยาทำทีเดินไปเดินมา พอสบโอกาส จึงได้นำเอาดอกไม้ที่ปิดช่องออกจากพิณ งูที่อยู่ภายในพิณอดอาหารมาหลายวัน เลื้อยออกมาจากช่องพิณ แผ่พังพาน ออกมาเลื้อยบนที่บรรทมของพระราชา พระนางมาคันทิยา พอเห็นงู ทำทีร้องเสียงดัง ตะโกนว่า “งู พระเจ้าข้า” แล้วทำทีเป็นพูดว่า “พระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้ ไม่ฉลาดเอาเสียเลย เป็นคนอาภัพ ไม่ฟังคำเตือนของเรา ส่วนหญิงเหล่านี้ก็ไม่มีสิริ พวกแกไม่ได้อะไรจากพระราชวังเลยหรือ เมื่อพระราชาสวรรคตแล้ว พวกเจ้าจักอยู่สบายหรือ? มิน่า ช่วงนี้เรามักฝันร้ายอยู่ตลอดเวลา ส่วนพระองค์ แม้หม่อมฉันห้ามอยู่ก็ไม่ฟัง”

พระราชาเมื่อสะดุ้งตื่นเห็นงู เพราะความกลัว จึงพิโรธว่า “หญิงเหล่านี้ กล้าทำกรรมหนักเยี่ยงนี้ เราก็โง่เอง ที่ไม่ยอมเชื่อคำเตือนของพระนางมาคันทิยา คราวก่อนเจาะช่องเอาไว้ในห้อง เมื่อเราส่งไก่ให้แกงก็ส่งกลับคืนมา มาวันนี้มาปล่อยงูไว้บนที่นอนเราอีก”

ส่วนพระนางสามาวดี กลับสอนบริวารของพระนางว่า “ท่านทั้งหลาย ที่พึ่งอื่นของพวกเราไม่มี ขอท่านทั้งหลายจงแผ่เมตตาไปยังพระราชาและพระเทวีและตนเองเถิด ท่านทั้งหลายอย่าได้โกรธเคืองต่อใคร ๆ เลย”

ส่วนพระราชาทรงถือคันธนูพาดลูกศรอาบด้วยยาพิษ เล็งไปยังพระนางสามาวดี ด้วยความพิโรธ พระองค์จึงยิงธนูไปยังพระนางสามาวดีที่อก ส่วนลูกศรกลับย้อนกลับมาหาพระองค์เอง ส่วนพระราชาทรงดำริว่า “ธรรมดาลูกศรที่เรายิงออกไป ย่อมทะลุแม้กระทั่งศิลา แต่ลูกศรนี้กลับพุ่งหาเราเพราะอะไรหนอ ลูกศรนี้ ไม่มีจิตใจ ไม่ใช่สัตว์ ไม่มีชีวิต ยังรู้จักคุณของพระนางสามาวดี แต่เราเป็นมนุษย์ กลับหารู้คุณไม่”

พระราชาทรงทิ้งธนู ประคองอัญชลี ขอโทษพระนางสามาวดี ส่วนพระนางสามาวดีได้ตรัสปลอบพระราชา ส่วนพระราชาเมื่อได้สดับปิยวาจาของพระนางสามาวดี ถึงกับตรัสว่า “ตอนนี้ เรายิ่งกลัวมากขึ้น” และพระนางทรงชักชวนให้พระราชาหันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

พระนางมาคันทิยากลับยิ่งเคียดแค้นทวีคูณ คิดว่า “เราทำสิ่งใด ไม่เป็นตามที่คาดเอาไว้ ผลกลับออกมาเป็นอย่างอื่นหมด คราวนี้เราจะทำอย่างไรดีหนอ?” วันหนึ่งในขณะที่พระราชาทรงประพาสกีฬาในพระราชอุทยาน จึงคิดอุบายบางอย่าง สั่งให้อาไปยังปราสาทของพระนางสามาวดี เอาผ้าชุบน้ำมัน พันเสา แล้วให้พระนางสามาวดีพร้อมบริวารอยู่ในห้อง และปิดประตูล็อคกลอนด้านนอก จุดไฟเผา

ส่วนพระนางสามาวดี ขณะไฟลุกโชน พระนางได้ให้โอวาทแก่หญิงบริวาร พระนางพร้อมกับหญิงบริวารเมื่อพระตำหนักถูกไฟไหม้ ก็กำหนดกัมมัฏฐานไปด้วย บางคนก็บรรลุสกทาคามิผล บางคนก็บรรลุอนาคามิผล

พระราชาเมื่อทรงทราบข่าวว่า พระตำหนักของพระนางสามาวดีไฟไหม้ จึงรีบเสด็จกลับมาโดยเร็ว แต่ก็มาไม่ทัน ได้แต่ทรงโทมนัสเป็นกำลัง มีเสนาอำมาตย์แวดล้อม ทรงระลึกนึกถึงคุณงามความดีของพระนางสามาวดี ทรงดำริว่า “ใครหนอเป็นคนลงมือทำ” เมื่อทราบว่า “พระนางมาคันทิยาเป็นผู้สั่งการ” ทรงดำริว่า “หากเราขู่ให้พระนางมาคันทิยารับสารภาพ เห็นทีพระนางคงไม่บอกความจริงเป็นแน่ เราจะวางอุบายแล้วค่อยลวงถาม”

จึงตรัสกับอำมาตย์ทั้งหลายว่า “ท่านผู้เจริญทั้งหลาย แต่ก่อน เราเป็นผู้มักระแวงอยู่เสมอ พระนางสามาวดี คอยแต่จะหาช่องทำร้ายเราเป็นนิตย์ บัดนี้พระนางก็ตายไปแล้ว ตอนนี้เรารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น จักอยู่ด้วยความเย็นใจมากขึ้น”

พวกอำมาตย์หลงกลลวงของพระราชา ทูลถามว่า “ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ใครหนอได้กระทำกรรมนี้”

พระราชาตรัสตอบว่า “คงเป็นใครสักคนหนึ่ง ที่กระทำลงไปเพราะเป็นห่วงเรา รักเรา”

พระนางมาคันทิยาทรงยืนฟังอยู่ใกล้ ๆ เมื่อได้ยินพระดำรัสของพระราชา จึงกราบทูลว่า “ใคร ๆ ที่พระองค์หมายถึงนั้น จะเป็นใครไม่ได้ หากไม่ใช่หม่อมฉัน หม่อมฉันเป็นคนสั่งการให้อาเป็นคนเผาเอง เพคะ”

พระราชาตรัสว่า “ขึ้นชื่อว่าคนที่รักเรานอกจากเจ้าเสียแล้ว คงไม่มีใครอีก เราพอใจมาก เราจะให้รางวัลแก่เจ้า เจ้าจงเรียกหมู่ญาติของตนมาเถิด”

พระนางมาคันทิยา ส่งข่าวเรียกพวกญาติของตนมาว่า “พระราชาทรงพอพระทัย และจะพระราชทานพรให้แก่เรา พวกเจ้าจงมาเถิด”

พระราชาทรงรับสั่งให้ทำการต้อนรับเหล่าญาติของพระนางมาคันทิยา คนที่ไม่ใช่ญาติเมื่อเห็นลาภสักการะ ให้สินจ้าง เพื่อจะได้อ้างว่า “เราก็เป็นญาติคนหนึ่งของนางมาคันทิยาเหมือนกัน” ส่วนพระราชารับสั่งให้ทหารจับคนทั้งหมดเอาไว้ แล้วให้ขุดหลุมมีความลึกเท่าสะดือ ที่พระลานหลวง ให้คนเหล่านั้นเข้าไปอยู่ในหลุม เอาดินกลบ แล้วเอาหญ้าฟางกลบข้างบน ให้จุดไฟเผา ในขณะที่ถูกไฟเผา ทรงมีรับสั่งให้เอาไถเหล็ก ไถอีกรอบหนึ่ง ขาดเป็นท่อน ๆ ส่วนสรีระของพระนางมาคันทิยา พระราชารับสั่งให้คนเอามีดกรีด ยกร่างลงสู่กระทะน้ำมัน  

เรื่องนี้  สะท้อนให้เห็นถึง  “ความแค้นแบบล้างผลาญ” ใครจะคิดว่า  สมัยพุทธกาลจะมีเรื่องเช่นนี้ด้วย  ภายใต้อำนาจความแค้นที่ครอบงำนั้น  มนุษย์มักจะคิดอะไรต่อมิอะไร เพื่อทำลายฝ่ายตรงกันข้ามให้ย่อยยับไป ปฐมเหตุความแค้นแบบล้างผลาญครั้งนี้เกิดจาก  “ศักดิ์ศรีของนางมาคันทิยา”

ความอาฆาตแค้นของนางมาคันทิยา เริ่มต้นจาก นางระเริงตนเองว่า  งดงามกว่าหญิงอื่นใดโลก  ไม่มีใครจะสวยเท่านางอีกแล้ว จึงหยิ่งผยองจนเข้าในสายเลือด พอพระศาสดาตรัสความจริงให้ฟังว่า ร่างกายเป็นของเน่า เป็นรังแห่งโรค เป็นความจริง แต่กลับเป็นคำที่นางมาคันทิยาไม่ปรารถนาที่จะฟัง คำพูดของพระสัพพัญญูอีกคนคิดว่าเป็นคำสอน คนพาลคิดว่าเป็นคำด่า จากนั้น นางจึงอาฆาตหาโอกาสทำลายมาโดยตลอด เมื่อทำร้ายตรงๆไม่ได้ อาศัยตีวัวกระทบคราด

เมื่อได้สัมผัสกับบทชีวิตของนางมาคันทิยาแล้ว ได้เห็นธาตุแท้ของความอาฆาตมุ่งร้ายอย่างไม่ลดราวาศอก มีแต่จะเพิ่มทวีความรุนแรงขึ้นมาเรื่อย ๆ  และคอยแต่จะจ้องทำร้ายให้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง จนนางเองคงจะลืมสนิทไปเลยว่า ถ้ามัวแต่อาฆาต  และจะหาความสุขได้จากที่ไหน  ทำให้นึกถึงคติที่ว่า

ถ้าผูกใจเจ็บ  จะเจ็บใจเรา

ถ้าเมตตาเขา  ใจเราจะสบาย

อุบาย ที่เป็นผลิตผลของความอาฆาตเคียดแค้นนั้น นางมาคันทิยาได้งัดออกมาใช้อย่างลึกล้ำ  ยากแก่การคาดเดา ชนิดที่ว่า “นอนกอดความแค้นนั่นเอง”

๑. อุบายสวยเลือกได้  นางได้คาดการณ์ล่วงหน้าว่า ถ้าใช้ความสาว ความสวยให้เป็นประโยชน์ จะมีโอกาสถอนแค้นได้ จึงเลือกถวายตัวเป็นมเหสีของพระเจ้าอุเทน

๒. อุบายปลุกระดมมวลชน  วิธีการง่าย ๆ เพียงแค่ใช้เงินจ้างคนพาล เพื่อปฏิบัติการโห่ไล่ ด่าทอ เบียดเบียนพระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขในขณะนั้น อาศัยเป็นเพียงแค่ผู้อยู่เบื้องหลัง สั่งการทั้งหมด

๓. อุบายทำลายบริวาร เป็นการเบี่ยงประเด็น เมื่อทำลายพระศาสดาไม่ได้ ก็มาทำลายบริวาร คือ นางสามาวดี ซึ่งเป็นคู่แข่งของตัวเอง มเหสีองค์ที่ ๒ ของพระเจ้าอุเทน เรียกว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นก ๒ ตัว นอกจากจะได้แก้แค้นแล้วยังได้กำจัดคู่แข่ง และเป็นจุดกำเนิดอุบายอื่น ๆ ต่อไป เช่น

          - อุบายนอกใจ  นับว่าเป็นวิธีที่ง่าย และได้ผลเร็วสำหรับคนทั่วไป ดูเหมือนนางจะเลือกเป็นวิธีแรกเสียด้วย ง่าย ๆ แค่ใส่ไฟว่า นางสามาวดีคิดนอกใจพระสวามี แอบดูชายอื่น ย่องไปเที่ยวยามราตรี ย้ำบ่อย ๆ บอกบ่อย ๆ เพื่อให้องค์เหนือหัวได้คล้อยตามตัวเองให้ได้ แม้จะไม่ได้ผลมาก แต่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้องค์เหนือหัวพระสวามี มีพระทัยกวัดแกว่ง

          - อุบายลิงหลอกเจ้า  นางรู้วิถีชีวิตของฝ่ายตรงกันข้ามเป็นอย่างดี เช่น รู้ว่า ไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็ใช้อุบายหลอกลวง ด้วยเล่ห์กลนิดหน่อย จนเกือบจะได้ผล กล่าวคือ ให้เหล่านางสามาวดีพร้อมทั้งนางสนม แกงอ่อมถวายพระสวามี แต่เอาไก่ที่ยังไม่ตายไปให้ เพราะรู้ดีว่า ยังไงคนเหล่านี้ก็ไม่ฆ่า นางจึงซ้อนอุบายด้วยการลวงองค์เหนือหัวว่า ให้ลองใจพวกนางว่า ให้แกงไปถวายพระพุทธเจ้าดูสิ รับรองพวกนางต้องทำแน่ แต่การซ้อนแผนด้วยการสลับไก่เป็น ไก่ตาย เป็นทีเด็ดของนาง  โดยที่องค์เหนือหัว ตามไม่ทันอุบายของนางเลย

          - อุบายใส่ไฟ นางมาคันทิยา รอบรู้ทุกเรื่องเกี่ยวกับองค์เหนือหัว แม้กระทั่งการเสด็จไปเพื่อเสวยสุขกับมเหสีองค์อื่น ๆ ประหนึ่งว่า เข้านอกออกในได้อย่างคล่องแคล่ว  นางจึงใช้อุบายใส่ไฟอย่างแยบยล ด้วยการนำเอางูพิษ แต่รีดพิษออกหมดแล้ว ปล่อยให้มันอดอาหาร แล้วขังไว้ในรางพิณ ปิดไว้ด้วยดอกไม้หลากสี พอถึงเวลาแล้ว ก็ปล่อยมันออกมา  ตรงนี้เองที่นาง  มีโอกาสได้  “เอาดีใส่ตัว เอาชั่วใส่คนอื่น”  นางอ้างสารพัด เช่นว่า นางฝันร้ายว่าจะมีอันตรายเกิดกับองค์เหนือหัว ห้ามไม่ให้เสด็จไปหานางสามาวดี แต่ไม่เชื่อ พอเหตุการณ์เป็นไปตามแผน ก็ถือโอกาส กล่าวความดีความชอบใส่ตัวเองยกใหญ่ คนผิด คือ นางสามาวดี  และอุบายนี้ ได้ผลเสียด้วย  พระเจ้าอุเทนเชื่อ อย่างสนิทใจ เมื่อแผนการแนบเนียนเช่นนี้ มีหรือคนจะไม่เชื่อ

          - อุบายยืมมือฆ่า  นับว่าเป็นความคิดที่ละเอียดมากที่จะทำลายคู่กรณีให้ราบคาบ โดยอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจที่นางสามาวดีมีต่อพระสวามีโดยไม่ระแคะระคายใด ๆ ทั้งสิ้น เป็นการเปิดโอกาสให้นางมาคันทิยาใช้วิธีการยืมมือฆ่า ในเรื่องนี้  นางมาคันทิยาออกอุบายว่าตนเองปรารถนาดีต่อกลุ่มมเหสีสามาวดี จึงให้อามาทำความสะอาด ก่อนพระสวามีมาเยี่ยม แต่เพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวาย จึงให้เหล่านางสนมมารวมกันในห้องเดียวกันทั้งหมด พอสบโอกาส จึงล็อคประตูขังเหล่านางสนมไว้ ส่วนที่เหลือก็มัดติดเสาในวัง จากนั้น จึงลงมือฆ่าอย่างอำมหิต

๔. อุบายขุดบ่อล่อปลา การสิ้นพระชนม์ของพระนางสามาวดีพร้อมเหล่านางสนม ยังความเสียพระทัยอย่างยวดยิ่งให้เกิดกับพระเจ้าอุเทน  แต่พระองค์ทรงเก็บอาการเอาไว้  เพื่อจะหามือฆ่า  ดังนั้น จึงได้ออกอุบายแผนซ้อนแผนจับผู้ร้ายที่แท้จริง  จึงได้รับสั่งประกาศเป็นทางการว่า  ใครหนอมีความปรารถนาดีต่อเรา  ได้กำจัดเสี้ยนหนามที่คอยทิ่มแทงจิตใจไม่ให้เกิดความสุขมาช้านาน  ถ้าใครรู้ตัว โปรดมารับรางวัล  เราจะตกรางวัลให้อย่างงาม  ปรากฏว่า  อุบายนี้ได้ผลเกินคาด  เพียงไม่ถึงครึ่งวัน นางมาคันทิยาที่เป็นผู้วางแผนมาตลอดหลงกลองค์เหนือหัวอย่างคาดไม่ถึง  ออกมายอมรับอย่างภาคภูมิใจที่จะได้รับรางวัล  ส่วนพระเจ้าอุเทนเอง หาได้พอเพียงเท่านั้นไม่ ยังคงวางแผนหาผู้มีส่วนร่วมในขบวนการเพิ่มอีก  โดยใช้รางวัลเป็นเครื่องล่อ  อาศัยว่า ผู้คนมีความโลภเป็นที่ตั้ง  จึงประกาศว่า  ใครที่เป็นญาติ เพื่อนพ้อง ของนางมาคันทิยาที่ได้ร่วมมือกำจัดนางสามาวดี ขอให้มารับรางวัลโดยด่วน  เพียงไม่กี่อึดใจ ผู้คนหลั่งไหลมาอย่างมโหฬาร คนที่ไม่ใช่ญาติก็แสดงตัวว่าเป็นญาติ เพราะความโลภนั่นเอง สุดท้าย โดยจับทั้งหมดและถูกประหารชีวิตอย่างเหี้ยมโหด

อุบายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ เพื่อเป็นการเอาคืน ตามอำนาจของกิเลส โดยไม่คำนึงถึง คุณธรรมจริยธรรม ขอแค่ให้ผลออกมาเพื่อสนองความต้องการของตน



[๖๓] ขุ.ธ.อ. (ไทย) ๔๐/๒๖๙-๒๙๗.

ep.10 อุบายลับลวงพราง ในพระพุทธศาสนา #ตีวัวกระทบคราด

  ตีวัวกระทบคราด   การผูกใจเจ็บต้องการเอาชนะ นอกจากภายในใจจะสุมไฟแห่งความโกรธเกลียดแล้ว ความอาฆาตแค้นมักทำร้ายเจ้าของเสียเอง ดุจไฟที่กำล...

Hot Issues